Date: February 25, 2016
Author: Grip Thailand
ความประหยัดขึ้นอยู่กับอะไร ?
เวลาได้ยินได้ฟังพวก “กูรู้” วิจารณ์รถอย่างถึงพริกถึงขิง เราก็อยากเข้าไปถามเสียเหลือเกินว่ารถรุ่นนั้นรุ่นนี้กินน้ำมันมากน้อยอย่างที่กำลังคุยกันอยู่ ใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัวตัดสิน เพราะบางคนยังไม่เคยขับด้วยซ้ำ ได้แต่ฟังได้แต่อ่านมา แล้วเอามาผูกเรื่องต่อจนเมามัน ซึ่งหลายครั้งมันเกินเลย ความเป็นจริง ฝั่งคนฟังเองเมื่อได้ฟังแล้วก็เชื่อทันที ไม่ได้ไปหาข้อมูลต่อ ว่าสิ่งที่ได้ยินมานั้น มันจริงแท้แค่ไหนกัน
แน่นอนว่าอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้นขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของเครื่องยนต์เป็นหลัก แต่เชื่อหรือเปล่าครับว่า รถบางคันมีความประหยัดสูง แต่คนบางคนขับกลับได้อัตราสิ้นเปลืองน่าใจหาย
ถ้าเคยเห็นตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองของรถรุ่นต่างๆ โดยเฉพาะรถที่มีการจัดการแข่งขันประหยัด น้ำมัน เราจะเห็นว่ารถบางคันนั้นมีคนขับได้ 8 กม./ลิตร บางคนก็ขับได้ 14-15 กม./ลิตร ในเส้นทางเดียวกัน และระยะเวลาในการถึงเป้าหมายแตกต่างกันไม่เกิน 30 นาที เห็นตัวเลขแบบนี้คุณเคยสงสัยหรือไม่ ว่าทำไมมันถึงแตกต่างกันมากขนาดนั้น มันเป็นเพราะรถคนละคัน หรือเปล่า หรือว่าเป็นเพราะการเติมน้ำมัน… หรือว่าบริษัทรถยนต์เมคข้อมูลขึ้นมา
อยากจะบอกว่ามันขึ้นอยู่กับคนเป็นสำคัญครับ จะประหยัดมากหรือน้อยอยู่ที่การเปิดรับข้อมูลของเจ้าของรถด้วย
นั่นเป็นเพราะว่า คุณต้องศึกษาตัวรถของคุณก่อน เครื่องยนต์, ระบบเกียร์ เป็นแบบไหน อย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น รถรุ่นนึงบางคนบอกว่ากินน้ำมันมาก วิ่งในเมือง 7-8 กม./ลิตร เหตุผลคืออัตราเร่งไม่ดี เป็นเพราะพื้นฐานของเครื่องมันกินน้ำมันอยู่แล้ว และเกียร์ตอบสนองช้า แต่เจ้าของรถอีกคนหนึ่งขับใช้งานในเมือง อัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ราว 12-13 กม./ลิตร ซึ่งถือว่าขับได้ประหยัดทีเดียว
เหตุผลของคนที่ 2 เขาบอกว่าช่วงแรกที่ซื้อมาอัตราสิ้นเปลืองอยู่ในราว 8-9 กม./ลิตร เนื่องจากเจ้าของรถขับแบบเดิมๆ ที่เคยชินมานานนับ 10 ปี ด้วยความที่อยากรู้ว่าทำไมมันถึงประหยัดสู้คันเก่าไม่ได้ เลยศึกษาดู แล้วจึงรู้ว่า อ๋อ เกียร์ ซีวีที เป็นการส่งต่อกำลังแบบแปรผัน ยิ่งคุณเร่งเครื่องอย่างนุ่มนวล เกียร์ก็จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ แม้ว่าจะอืดอาดไปบ้างจากการขับแบบเดิมๆ แต่ผลที่ได้ คือ อัตราสิ้นเปลืองที่ต่ำกว่าเกียร์แบบปกติ
เจ้าของรถคนนี้ยังบอกอีกว่า เวลาเร่งแซงบนเส้นทางที่โล่ง จะค่อยๆ เพิ่มความเร็วไปเรื่อยๆ จนใกล้ถึงรถคันหน้าแล้วจึงเปลี่ยนเลนเพื่อแซง การขับแบบนี้ ในช่วงเดินทางไกล ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองยิ่งดีมากขึ้นไปอีก เขาจึงสรุปกับตัวเองได้ว่า การปรับตัวเอง เข้าหารถนั้น ได้ประโยชน์มากมายกว่าที่คิด
แนวคิดนี้จะแตกต่างจากพวกที่ใช้ตนเองเป็นบรรทัดฐาน ไม่ว่าจะขับรถคันไหนก็จะขับเหมือนเดิมด้วยสไตล์เดิมๆ ไม่คิดจะปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ คำตอบหรือตัวเลขเรื่องความสิ้นเปลืองนั้น ก็จะเป็นด้านลบเสียมากกว่าครับ