Date: February 25, 2016
Author: Grip Thailand
ว่ากันต่อเรื่องการปรับพวงมาลัย ถ้ารถของเราปรับระดับสูงต่ำของพวงมาลัยได้เลือกให้พวงมาลัยอยู่สูงไว้ก่อนครับ แต่ก็ต้องไม่บดบังส่วนสำคัญของมาตรวัดต่างๆ คราวนี้ถึงขั้นตอนสำคัญที่ผิดกันมากที่สุด นั่นคือระยะระหว่างลำตัวกับพวงมาลัย ระยะที่ถูกต้องคือระยะที่กำส่วนบนสุดของพวงมาลัย โดยที่ลำตัวยังพิงพนักพิงสนิท แล้วแขนของเราเกือบเหยียดสุด
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเกือบเหยียดสุดน่ะมันแค่ไหน ? มีวิธีง่ายๆ ครับ ระยะที่ถูกต้องคือเมื่อพิงพนักพิง (ห้ามชะโงก) แล้ว เหยียดแขนข้างหนึ่งไปวางบนส่วนของพวงมาลัย ตรงข้อมือ (ตรงข้อจริงๆ) ที่งอได้นะครับ ไม่ใช่ส่วนที่เราคาดสายนาฬิกา จะอยู่บนวงพวงมาลัยพอดี เพราะฉะนั้นพอเราเปลี่ยนเป็นกำส่วนนี้แขนก็จะหย่อนเล็กน้อย
แล้วทำไมต้องใช้ระยะนี้ ? ถ้าเลือกระยะนี้ถูกต้องหมายความว่า เราสามารถจับวงพวงมาลัยได้ทุกส่วนโดยไม่ต้องชะโงกตัวมาข้างหน้า หรือห่อไหล่เพื่อให้จับส่วนบนถึง บางคนอาจจะแย้งว่าตั้งระยะไกลกว่านี้มาเป็นสิบปีแล้ว ไม่เห็นเป็นอะไร ไม่แปลกครับ ถ้ายังไม่เคยเจอสิ่งที่ดีกว่า เราก็จะไม่รู้หรอกครับ ว่าที่มีอยู่หรือใช้อยู่นั้นมันแย่กว่า หรืออย่างน้อยก็ไม่ดีพอหรือไม่ได้ดีที่สุด
การหมุนพวงมาลัยให้เบาแรงและรวดเร็วปลอดภัย ต้องใช้การยืดหรืองอข้อศอกเป็นหลักในการออกแรงครับ ใช้ข้อมือกับกล้ามเนื้อที่หัวไหล่เป็นส่วนประกอบ ถ้าต้องเหยียดแขนจนสุดพร้อมกับชะโงก แม้จะจับพวงมาลัยถึง ก็หมายความว่าเราใช้กล้ามเนื้อที่หัวไหล่ได้อย่างเดียว ซึ่งแม้จะมีระบบผ่อนแรงก็ยังหนักเกินไป เนื่องจากแนวแรงมันผิดหลักกลศาสตร์ครับ ท่านั่งบัดซบแบบที่เอนพนักพิงระดับครึ่งนั่งครึ่งนอน จนจับวงพวงมาลัยด้านบนไม่ถึง ถ้าไม่เผยอตัวจากพนักพิง เป็นท่าที่อันตรายอย่างมาก และผมไม่เข้าใจว่า พวกวัยรุ่นและเลยวัยรุ่นที่ชอบขับรถทั้งเครื่องแรงและไม่แรงจริง นิยมใช้ท่านี้กันได้อย่างไร !