Date: February 25, 2016
Author: Grip Thailand
คราวนี้ นิตโตะซัง ไล่มาถึงเรื่อง สปริง ไอ้เจ้าสปริงจะยุบและยืดตัวเมื่อล้อวิ่งผ่านผิวถนนที่ขรุขระ ส่งผลให้ล้อเคลื่อนที่ขึ้น-ลงได้เกือบอิสระในแนวดิ่งจากโครงรถ ทำให้สามารถ “ดูดกลืน” (Absorb) แรงเต้นของล้อลงได้ แรงจากการเคลื่อนที่ของล้อจึงถูกส่งถ่ายไปยังตัวถังน้อยกว่าที่ล้อเต้นจริง ผลก็คือผู้โดยสารและน้ำหนักบรรทุกจะได้รับแรงสะเทือนจากล้อลดลงนั่นเอง
โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่า “สปริง” คือ ขดลวดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดต่างๆ ขดเป็นวง รูปทรงกระบอก (สปริงขด หรือ Coil Spring) แบบอย่างที่เราคุ้นเคยกันมาตลอด แต่ในความเป็นจริง สปริงยังมีอยู่อีกหลายประเภท หลายรูปแบบ และที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบันนอกเหนือจากแบบขดลวด คือ แหนบ (Leaf Spring), เหล็กบิด หรือทอร์ชั่นบาร์(Torsion bar), สปริงลม (Air Spring), สปริงยาง (Rubber Spring) และ ไฮโดรนิวเมติก (Hydro – Pneumatic) ในอนาคตเมื่อความก้าวหน้าทางวิศวกรรมสูงขึ้นอีก ก็อาจมีสปริงรูปแบบใหม่ๆ ออกมาใช้งานอีกก็ได้ครับ
แหนบจะรับน้ำหนักและแรงสั่นสะเทือนโดยการ “โค้งหรืองอตัว” ของแผ่นแหนบ สปริงขดรับน้ำหนักโดยการ “หด หรือยุบตัว” ของขดสปริง ส่วนเหล็กบิด หรือทอร์ชั่นบาร์ จะรับแรงสั่นสะเทือนโดยการ “บิดตัวของเพลา”, สปริงลมลดแรงสั่นสะเทือนจากการ “อัดตัวของลม” ในถุงลม, ส่วนสปริงแบบไฮโดรนิวเมติก ดูดซับแรงสั่นสะเทือน โดยการอัดตัวของแก๊สไนโตรเจนและของเหลว (ที่ใช้อยู่เป็นน้ำมันไฮดรอลิก) ในระบบ
ตอนหน้ามาว่ากันถึงรูปแบบของระบบช่วงล่างต่างๆ ครับ