Date: February 25, 2016
Author: Grip Thailand
กลับมาที่ท่านั่งของเรากันอีกทีครับ สำหรับผู้ที่ใช้รถราคาไม่สูงนัก ซึ่งก็จะไม่มีอุปกรณ์ที่ปรับระยะได้ครบครันตามที่ นิตโตะซัง ได้แนะนำวิธีปรับมาตั้งแต่ตอนก่อนๆ เช่น อาจจะปรับระยะใกล้-ไกลของพวงมาลัยไม่ได้ ปรับได้เฉพาะระดับสูง-ต่ำ หรือไม่ก็เป็นพวงมาลัยตายตัว ปรับตำแหน่งไม่ได้เลย ให้ใช้หลักประนีประนอมครับ เช่น ปรับระยะเก้าอี้ห่างแป้นเหยียบถูกต้องแล้ว มุมของพนักพิงก็ถูกต้องเหมาะสมเช่นเดียวกัน แต่พวงมาลัยอยู่ใกล้ตัวไปหน่อย ก็อาจต้องใช้วิธีถอยเก้าอี้มาอีกนิด หรือไม่ก็เอนพนักพิงไปด้านหลังอีกหน่อย หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง
ถ้าพวงมาลัยไกลไป คือ พิงหลังสนิทแล้วเหยียดแขนไปพาดส่วนบนของวงพวงมาลัย ถูกฝ่ามือหรือโคนนิ้ว แทนที่จะเป็นข้อมือ ก็ลองเอนพนักพิงมาด้านหน้า หรือไม่ก็เลื่อนเก้าอี้ไปด้านหน้า แล้วแต่อย่างไหนจะมีผลกระทบน้อยกว่า หรือไม่ก็ช่วยกันอย่างละนิดครับ
เท่าที่ผมพบด้วยตนเอง ผู้ที่นั่งใกล้พวงมาลัยเกินไป มีน้อยมาก มักเป็นผู้ที่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับรถนัก ใช้รถเป็นแค่สิ่งจำเป็นหรืออำนวยความสะดวก (ไม่ถือเป็นข้อเสียนะครับ ผมว่าดีกว่าพวก “บูชา” จนเกินเหตุ) และได้รับการสอนท่านั่งมาแบบผิดๆ ส่วนพวกนั่งห่างเกินมีเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นโรค “เอาอย่าง” ครับ และต้นแบบก็เป็นพวกที่ไม่มองให้ดี เพราะต้นแบบที่แท้จริงคือ นักขับหรือนักแข่งระดับสากล ที่นั่งแบบลำตัวห่างพวงมาลัยนั้น ไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็น สูตรหนึ่ง แนสคาร์ ดีทีเอม แรลลี จิมคานา ดริฟทิง หรือแข่งความเร็ว แบบใดก็ตามในโลกนี้
ถ้าผมพบผู้ที่นั่งผิดและมีความรู้สึกว่าให้ความเชื่อถือผมเพียงพอ ผมก็จะแนะนำท่านั่งที่ถูกให้ ซึ่งมีน้อยคนมาก เพราะผมไม่ชอบสอนใคร ไม่ชอบบอกอะไรใครโดยที่ไม่ได้ถูกถาม ทุกรายจะยืนยันว่าท่านั่งเดิมดีแล้ว ถนัดที่สุด พวกที่นั่งใกล้ไป ก็จะบอกว่าท่าที่นั่งถูกต้อง ทำให้รู้สึก “หวิว” หมดความมั่นใจ ส่วนพวกที่นั่งไกลเกินไป ก็จะบอกว่าอึดอัด ไม่มีใครกล้าบอกความจริงว่า “ไม่เท่” หรือไม่เหมือนนักแข่ง (ที่ไหนก็ไม่ทราบ) ผมบอกทุกคนที่ผมตัดสินใจแนะนำ ให้ใช้ระยะที่ถูกว่า ถึงจะรู้สึกว่าไม่ถนัด ขอให้ฝืนใจขับด้วยระยะที่ถูกต้องนี้ให้มากพอ เช่น อย่างน้อยสามวัน ถ้าขับไปทำงานเช้าและเย็น แล้วหลังจากนั้น ถ้ายังเชื่อว่าท่าเดิมดีกว่า ก็ไม่มีใครว่าอะไร ทุกคนที่ทำตาม บอกว่าท่าที่ถูกต้องดีกว่าครับ บางคนบอกว่า โชคดีที่ไม่ต้องขับในท่าผิดไปอีกหลายสิบปีหรือจนแก่